วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

SKY ผนึกคณะวิทยาการฯ มธ.ปั้น ‘AI Mentor’ ใน ร.ร.ทั่วประเทศ

ในขณะที่ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือ AI เข้ามามีบทบาท และอิทธิพลในทุกกิจกรรมของชีวิต บุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้าน AI หรือ AI Talent กลับไม่ได้เติบโตอย่างรวดเร็วในอัตราเดียวกัน กลายเป็นปัญหาของทั้งภาคการศึกษา และปัญหาของภาคอุตสาหกรรม ที่มีความต้องการ AI Talent สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเหตุให้บริษัท สกาย ไอซีที จำกัด (มหาชน) หรือ SKY มองเห็นความสำคัญของการสร้าง “AI Mentor” และเริ่มดำเนินภารกิจผ่านการสร้างความร่วมมือกับ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และ SenseTime ผู้นำด้าน AI Solutions รายใหญ่ของโลก

นายขยล ตันติชาติวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการตลาด บริษัท SKY เปิดประเด็นว่า ปัจจุบันการขาดแคลนบุคลากรด้าน AI หรือ AI Talent ถือเป็นปัญหาสำคัญของทุกภาคส่วน แต่การจะพัฒนาบุคลากรด้าน AI จำนวนมากในทันที ไม่ใช่เรื่องง่าย บริษัทจึงมองเรื่องการสร้างบุคลากรภาคการศึกษาให้แข็งแกร่ง พร้อมเป็น AI Mentor เพื่อจะได้ช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้สู่เยาวชนเป็นวงกว้างได้อีกทอดหนึ่ง และเป็นการสร้างรากฐานที่ดีสู่การพัฒนาระบบนิเวศด้านเทคโนโลยี หรือ Tech Ecosystem ในระยะยาว

“เราเชื่อว่า ถ้าครูแข็งแรง เด็กก็จะแข็งแรง ในฐานะผู้ที่อยู่ในแวดวงด้านเทคโนโลยี และ AI ระดับประเทศ มีทั้งบุคลากร องค์ความรู้ อุปกรณ์ เครือข่ายด้านเทคโนโลยี มองว่าต้องเข้ามาช่วยเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างรากฐานของการพัฒนาสังคมให้แข็งแรง ผ่านการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา เสมือนเราเป็น AI Trainer ที่เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงให้แก่คุณครู จนคุณครูแข็งแรง พร้อมไปเป็น AI Mentor สร้างเยาวชนให้เป็น AI Talent ที่แข็งแรงให้แก่ประเทศอีกทอดหนึ่ง” นายขยล กล่าว

ทั้งนี้ บริษัทเริ่มต้นภารกิจแรกด้วยการสนับสนุนนวัตกรรมที่จะทำให้เทคโนโลยี AI เข้าไปอยู่ในภาคการศึกษา ซึ่งถือเป็นพื้นฐานของชีวิต โดยร่วมกับ มธ.และ SenseTime พันธมิตรด้าน AI Solutions เข้ามาช่วยออกแบบโปรแกรมเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้เกี่ยวกับระบบการทำงานของ AI ด้วยคำสั่งคอมพิวเตอร์ขั้นพื้นฐานอย่าง Python และ Block Diagram เพื่อช่วยให้ครูผู้สอนที่ไม่ได้เชี่ยวชาญทักษะคอมพิวเตอร์เชิงลึก เข้าถึงองค์ความรู้ได้ง่าย และนำทักษะ AI ไปบูรณาการร่วมกับแผนการเรียนการสอน จนขยายผลไปสู่ผู้เรียน และสถานศึกษาข้างเคียง รวมถึง สร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่คนในชุมชนตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ

รศ.อนุชาติ พวงสำลี คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ.กล่าวว่า เบื้องต้นทางคณะ และสกาย ไอซีที ตั้งเป้าหมายระยะแรกในการขยายองค์ความรู้ด้าน AI Literacy แก่บุคลากรการศึกษา 300-400 คน หรือ 1-2 โรงเรียนต่อจังหวัด โดยมองว่าหากแต่ละโรงเรียนมีคุณครูกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ที่มีพื้นฐานด้านเทคโนโลยี และคุณครูจากกลุ่มสาระวิชาอื่นเข้ามาอบรมกับทางโครงการ แล้วนำองค์ความรู้ด้าน AI ไปขยายผลต่อภายในโรงเรียนได้ จะเกิดประโยชน์ต่อเยาวชน และระบบการศึกษาไทยในอนาคต ทั้งนี้ คณะยังต้องพัฒนาพี่เลี้ยง หรือตัวแทนผู้เชี่ยวชาญในระดับท้องถิ่นควบคู่ไปด้วย เพื่อทำหน้าที่เข้าไปดูแลแต่ละโรงเรียนอย่างใกล้ชิด เนื่องจากแต่ละโรงเรียนมีปัจจัย และเงื่อนไขที่แตกต่างกัน จึงอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการขยายผลแก่นักเรียน และบุคลกากรตามพื้นที่ต่างๆ

“องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี และ AI คงมีบทบาทสำคัญต่อภาคการศึกษา แต่ความยากง่ายของการขยายผลต่อในแต่ละพื้นที่คือ คุณครู และบุคลากรต่างมีภาระงาน และวิชาที่ต้องดูแล เราจึงหาวิธีว่าจะทำอย่างไรให้ AI เข้าไปเป็นตัวช่วย และบูรณาการกับสิ่งที่คุณครูเขาสอนอยู่แล้ว ไม่ใช่เพียงแค่การเพิ่มเติมเนื้อหาเข้าไปเท่านั้น เพื่อให้ความรู้ AI เข้าถึงได้ง่าย และอยู่กับพวกเขาได้ยั่งยืนกว่าเดิม” รศ.อนุชาติ อธิบาย

ขณะที่ นายวชิรวิทย์ เอี่ยมวิลัย ครูประจำวิชาวิทยาการคำนวณ โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ สมุทรสาคร ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผู้ร่วมอบรม เล่าว่า ในช่วงที่เรียนจบปริญญาตรี ก่อนจะบรรจุเป็นครู หลักสูตรด้าน AI ยังไม่แพร่หลายในมหาวิทยาลัยเท่าไรนัก ต้องยอมรับว่าเรื่อง AI ถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับคุณครู ทำให้เมื่อทางโรงเรียนเริ่มต้นสอนหลักสูตรที่ต้องอาศัยความรู้ด้าน AI คุณครูส่วนใหญ่ต้องเรียนรู้ไปพร้อมกับเด็ก โดยหาข้อมูลเพิ่มเติมจากการอ่านหนังสือ แต่ความรู้ดังกล่าวเป็นเพียงความเข้าใจ AI ขั้นเบื้องต้นเท่านั้น อาจไม่ใช่ข้อมูลเชิงลึก เมื่อมีหลักสูตรอบรมด้าน AI Literacy จึงเข้าร่วมเพื่อเพิ่มพูนทักษะ และนำไปพัฒนาการเรียนการสอนด้านวิทยาการคำนวณภายในโรงเรียน

“จากการเรียนรู้ในครั้งนี้ คิดว่าหากได้มีโอกาสเรียนหมดทุกบทของโปรแกรม น่าจะทำให้เข้าใจเบื้องหลังการทำงานของ AI และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกได้อย่างแท้จริง ซึ่งจะนำไปสู่การสอนให้ผู้เรียนมีความเข้าใจมากยิ่งขึ้น เพราะเชื่อว่าถ้าครูผู้สอนมีความเข้าใจมากเท่าไร ผู้เรียนก็จะเรียนรู้ได้มากเท่านั้น” นายวชิรวิทย์ กล่าว

ปิดท้ายที่ ดร.ชยันต์ นันทวงศ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ หนึ่งในผู้ร่วมอบรม เพิ่มเติมว่า เมื่อเทียบกับ 5-6 ปีที่แล้ว เทคโนโลยี AI ยังดูเป็นเรื่องไกลตัว เนื่องจากยังขาดการเรียนรู้ทฤษฎี และเครื่องมือด้าน AI ต่างจากปัจจุบันที่นักเรียนระดับประถมก็เข้าถึงองค์ความรู้เกี่ยวกับ AI โดยไม่จำกัดสาระวิชา

เชื่อว่าการพัฒนาหลักสูตรด้าน AI Literacy จะเป็นประโยชน์ต่ออาจารย์ หรือบุคลากรทางการศึกษาในหลักสูตรอื่น อาทิ สังคมศาสตร์ ให้เข้าใจการทำงานของ AI ง่ายขึ้น จนต่อยอดนำเทคโนโลยี AI ไปใช้แก้ปัญหาในศาสตร์อื่นนอกเหนือจากคอมพิวเตอร์ได้

ขอบคุณที่มา มติชนออนไลน์

https://www.matichon.co.th/education/news_2769574